ข้อบังคับมูลนิธิฯ

 

หมวดที่ 1 ชื่อ เครื่องหมายและที่ตั้ง

ข้อ 1.มูลนิธินี้ให้ชื่อว่า  “มูลนิธิรักเมืองไทย”
ข้อ 2.เครื่องหมายของมูลนิธิเป็นรูปแผนที่ประเทศไทยด้านล่างมีคำว่ามูลนิธิรักเมืองไทยอยู่ภายในวงกลม
ข้อ 3.สำนักงานของมูลนิธิ  ตั้งอยู่ที่  84  ถนนอู่ทองนอก  แขวงดุสิต  กรุงเทพมหานคร

 

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4.วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ  คือ

4.1  เพื่อส่งเสริมการศึกษา  การวิจัยค้นคว้าและกิจกรรมเยาวชน
4.2  เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางการแพทย์  การสาธารณสุข  การกีฬาและการศึกษา
4.3  เพื่อส่งเสริมการบรรเทาทุกข์  การบรรเทาสาธารณภัย  การสงเคราะห์ชุมชนและสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
4.4  เพื่อส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีในระหว่างกลุ่มชนต่างอาชีพ  โดยมิคำนึงถึงสภาพความแตกต่างของฐานะ
4.5  เพื่อร่วมมือกับองค์การอื่น ๆ บำเพ็ญสาธารณกุศลสงเคราะห์
4.6  ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
 

หมวดที่ 3 ทุนทรัพย์  ทรัพย์สินและการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ 5. ทรัพย์สินของมูลนิธิ  มีทุนเริ่มแรก  คือ

เงินสดจำนวน  200,000  (สองแสนบาท)  คือ  เงินสดที่คณะกรรมการอำนวยการฯ           รักเมืองไทย จัดรายการโทรทัศน์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่  29  ตุลาคม  พ.ศ.  2523  มอบให้เป็นทุนก่อตั้ง


ข้อ 6. มูลนิธินี้อาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้

6.1  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยที่ได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนีสิน หรือภาระติดพันอื่นใด

6.2  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

6.3  ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิหรือดอกผลจากทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาคให้มูลนิธิโดยไม่มีเงื่อนไข

 

หมวดที่ 4 คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ 7. กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้

7.1  มีอายุไม่ต่ำกว่า  20  ปี  บริบูรณ์

7.2  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถ  หรือเสมือนไร้ความสามารถ

7.3  ไม่เป็นผู้ทุพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

7.4  ไม่เป็นผู้ต้อคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่การกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ


ข้อ 8. กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

8.1  ถึงคราวออกตามวาระ

8.2  ตายหรือลาออก

8.3  ขาดคุณสมบัติตามตราสารข้อ  7

8.4  เป็นผู้ที่มีความประพฤติและปฏิบัติตนให้เป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการมูลนิธิ มีมติให้ออกโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของคณะกรรมการมูลนิธิ

 

หมวดที่ 5 การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 9.  มูลนิธิดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 25 คน ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิ  รองประธานกรรมการมูลนิธิ    เลขาธิการมูลนิธิ เหรัญญิก และตำแหน่งอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ 10.  ในวาระเริ่มแรก  คณะกรรมการมูลนิธิได้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อท้ายข้อบังคับฉบับนี้
ข้อ 11.  วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้ ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานมูลนิธิเลขาธิการ มูลนิธิเหรัญญิก และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ 12.  กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี
ข้อ 13.  เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิเป็นไปโดยต่อเนื่องกัน  เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ครบ  2ปี ให้มีการจับฉลาก ออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิ ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิครั้งแรก
ข้อ 14.  การเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ 15.  กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับฉลากในวาระแรก  อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ 16.  ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลงให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่ตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการมูลนิธิแทนตำแหน่งที่ว่างลง กรรมาการมูลนิธิผู้ได้รับการแต่งตั้ง ซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

 

หมวดที่ 6 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 17.    คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้  ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

17.1  กำหนดนโยบายของมูลนิธิและดำเนินการตามนโยบายนั้น

17.2  ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของมูลนิธิ

17.3  เสนอรายงานกิจการ  รายงานการเงินและบัญชีงบดุล รายได้  รายจ่าย ต่อกระทรวงมหาดไทย

17.4  ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้

17.5  ตราระเบียบที่เกี่ยวกับการดำเนินการของมูลนิธิ

17.6  แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิภายใต้ความควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ

17.7  เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้เป็นมูลนิธิเป็นพิเศษ  เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์

17.8  เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ

17.9  เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการมูลนิธิ

17.10  แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิ  ให้ดำเนินการตาม  ข้อ  17..7, 17.8, และ 17.9  หรือเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุมและที่ปรึกษาตามข้อ 17.9 ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น

ข้อ 18.    ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

18.1  เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมาการมูลนิธิ

18.2  สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

18.3  เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก  และในการทำนิติกรรมใด ๆ ของมูลนิธิหรือการลงลายมือชื่อในเอกสารข้อบังคับ  และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ  และในการออรถคดีนั้น เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการมูลนิธิ  2  คน  ได้ลงลายมือชื่อแล้ว  จึงเป็นอันใช้ได้

18.4   ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 19. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธาน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือ ในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน

ข้อ 20. ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิ และรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิ คนใดคนหนึ่ง เป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น

ข้อ 21. เลขาธิการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประจำของมูลนิธิติดต่อประสานงานทั่วไปรักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการ ตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิและทำรายงานการประชุมตลอดจนรายงานกิจกรรมของมูลนิธิ

ข้อ 22.  เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง  ให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด

ข้อ 23.  สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามคณะกรรมการมูลนิธิกำหนด  โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ข้อ 24.  คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการหรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของมูลนิธิได้

 

หมวดที่ 7 อนุกรรมการ

ข้อ 25.   คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม  โดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้และ ในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการเลขานุการ หรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ก็ให้อนุกรรมการแต่ละคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ข้อ 26.   อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการประจำ อยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้

26.1    อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย

26.2    อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย

 

หมวดที่ 8  การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 27.   คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำทุก ๆ ปีภายในเดือนมีนาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 28.   การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่ 2 คน  ขึ้นไปแสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ 29.   กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด  ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุม  ให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 27 บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 30.   ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรืออนุกรรมการหากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  มติของที่ประชุมถือเอาเสียงข้างมากในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน  ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด  กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย  ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจ สั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือ แทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  แต่ประธานกรรมการมูลนิธ ิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการ ไปตามมตินั้น  กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 31.   ในการประชุมกรรมการมูลนิธิ  หรือคณะอนุกรรมการประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือประธาน  ที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติหรือผู้สังเกตการณ์  หรือเพื่อชี้แจงหรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
 

หมวดที่ 9 การเงิน

ข้อ 32.   ประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีที่ทำหน้าที่แทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน  200,000  บาท  (สองแสนบาทถ้วน)  และ ให้เลขาธิการมูลนิธิมีอำนาจสั่งจ่ายได้คราวละไม่เกิน  100,000  บาท  (หนึ่งแสนบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก      เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่อนุมัติให้จ่ายได้  แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป

ข้อ 33.   เหรัญญิกมีอำนาจเก็บเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน  10,000.00  บาท  (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ 34.   เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ์  ต้องฝากไว้กับธนาคาร  หรือสถาบันการเงินอื่นใด ที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน  แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ 35.   การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วเงิน หรือสลิปสั่งจ่ายเงินจากสมุดเงินฝากจะต้องมีลายมือชื่อของประธานมูลนิธิ  หรือเลขาธิการ  หรือเหรัญญิก  2  ใน  3  ชื่อนี้ลงนามทุกครั้ง ที่จะเบิกจ่ายได้
ข้อ 36.   ในการใช้จ่ายเงินมูลนิธิ  ให้จ่ายเพียงดอกผล อันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิและเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบโดยเฉพาะ
ข้อ 37.   ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน  การบัญชี  และทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ 38.   ให้ผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ  ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ  โดยจะให้ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์  หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไรสุดแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ 39.   ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิและรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการจะต้องรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย  ผู้สอบบัญชีมีสิทธิ ตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องตลอดจนสอบถามกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชี  และเอกสารดังกล่าวได้
 

หมวดที่ 10 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ 40.   การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมกรรมการมูลนิธิ  ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวน กรรมการทั้งหมด  และมติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

 

หมวดที่ 11 การเลิกมูลนิธิ

ข้อ 41.   ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติคณะกรรมการหรือโดยเหตุใดก็ตาม  ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลือ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่มูลนิธิหนึ่งมูลนิธิใด ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน  ซึ่งแล้วแต่มติคณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด

ข้อ 42.   การสิ้นสุดของมูลนิธินั้น  นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว  ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุผลต่อไปนี้

42.1    เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว  ไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน

42.2    เมื่อกรรมการมูลนิธิมีจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก

42.3    เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับ
42.4    เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ
 

หมวดที่ 12 บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 43.   การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิหากเป็นที่สงสัย  ให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 44.   ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนด
ข้อ 45.   มูลนิธิจะต้องไม่กระทำการค้ากำไรและจะต้องไม่ดำเนินการนอกเหนือไปจากข้อบังคับกำหนดไว้
 
 
-> กลับขึ้นไปด้านบน
 
 
 Untitled Document
 
หน้าแรก
l
เกี่ยวกับมูลนิธิ
l
l
l
l
แผนงานและโครงการ
l
l
l
.
   
 - ประวัติความเป็นมา
- วัตถุประสงค์
- เป้าหมายที่ชัดเจน
- เบลเซอร์สีเลือดหมู
 
            - ผลการดำเนินการที่สำคัญ
- โรงเรียนในโครงการ